Throwback Thursday : “Bohemian Rhapsody” บทเพลงที่มีความหมายมากมาย แต่ความรู้สึกเท่าเดิม

Throwback Thursday : “Bohemian Rhapsody” บทเพลงที่มีความหมายมากมาย แต่ความรู้สึกเท่าเดิม

ย้อนไปเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว “Bohemian Rhapsody” เป็นเพลงที่โด่งดังมากในยุค 70 โดยได้รับการบันทึกเสียงเป็นบทเพลงลำดับที่ 11 ในสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 คือ A Night at the Opera ในปี 1975 ของวง Queen เป็นเพลงที่ Freddie Mercury นักร้องนำของวงแต่งขึ้นมาด้วยตัวเองในทุกสัดส่วนของเพลง โดยเพลงนี้ใช้เวลาบันทึกเสียงยาวนานไปถึง 3 สัปดาห์ ยิ่งท่อนโอเปร่าก็ปาเข้าไปหนึ่งสัปดาห์แล้ว หรืออย่างท่อนที่ร้องประสานเสียงที่มีการวางเสียงซ้อนกันถึง 160 ชั้น แม้ทุกคนจะมึนตึบไปกับเพลงนี้ แต่ก็เชื่อมั่นในตัว Freddie มาก ว่า "เขากำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งที่เขาทำจะพลิกโฉมวงการนี้อย่างแน่นอน"


Brian May เคยเล่าไว้ในนิตยสาร Q เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2008 ว่า ในครั้งแรกที่มีการร่วมมือกันสร้างสรรค์บทเพลงนี้ในสตูดิโอ เขาจำได้ว่า Freddie Mercury มาถึงพร้อมหอบกระดาษมาหนึ่งหยิบมือ ซึ่งเป็นโน้ตที่เขียนไว้ แล้วเดินไปที่เปียโน แล้วลงมือพรมนิ้วเล่นอย่างกระหน่ำรุนแรงเหมือนกับการตีกลอง และต่อมาลูกโซโล่กีตาร์ที่กรีดใจอย่างกลมกล่อม ซึ่งเปรียบเสมือนลายเซ็นของไบรอัน เมย์ ก็ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในลูกโซโล่กีตาร์ที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์ออกมา เมย์บอกว่า “ท่อนนี้เฟรดดี้แต่งจากการเล่นเปียโน! โดยเล่นด้วยมือซ้ายเป็นอ็อคเตฟ จากนั้นเมย์ก็แปลงจากการเล่นบนเปียโนมาเป็นบนกีตาร์แทนซึ่งเล่นยากมากเพราะวิธีการเล่นเปียโนของเฟรดดี้ถือว่ามีความเฉพาะตัวสูง” นอกจากนี้ความเฉพาะตัวและความแปลกใหม่เหล่านั้นจึงกลายเป็นความนิยมอย่างสูงขึ้นมา

ความสำเร็จของ “Bohemian Rhapsody” นั้น แม้ว่าช่วงแรกที่เพลงถูกปล่อยออกมาจะทำให้ทางค่ายตกใจ ด้วยความยาวของเพลงที่ยาวกว่า 6 นาที จนทางค่ายคิดว่านี่เป็นแค่เรื่องล้อเล่น แต่ทางวงก็เชื่อมั่นว่า พวกเขาจะผลักดันเพลงนี้ออกไปได้ เฟรดดีก็เลยหิ้วแผ่นไปให้เพื่อนที่เป็นดีเจชื่อว่า เคนนี เอเวอร์เรต เป็นคนเปิดด้วยตัวเอง จนทำให้เพลงนี้ถูกเล่นถึง 14 ครั้งในช่วงสุดสัปดาห์แรก จนเกิดความสนใจในที่สุด ด้วยบทเพลงที่มีความเป็น Opera Rock ที่สร้างความแปลกใหม่ให้วงการร็อคในยุคนั้น และในที่สุด “Bohemian Rhapsody” ก็ได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์ และกลายเป็นบทเพลงยอดนิยมที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ติดอันดับเพลงฮิตในตารางหรือชาร์ตเพลงยอดนิยมทั่วโลกที่วัฒนธรรมเพลงแบบอุตสาหกรรมดนตรีตะวันตกร่วมสมัยเข้าไปถึง และติดอันดับ 1 ใน UK Chart หรือตารางเพลงฮิตของสหราชอาณาจักรถึง 9 สัปดาห์ และยังคงเป็นตำนานมาจนในปี 2002 ที่ Guinness Book of World Records จัดให้คนทั่วโลกส่งรายชื่อเพลงภาษาอังกฤษที่เป็นที่ชื่นชอบตลอดกาล และผลโหวตอันดับ 1 ก็ตกเป็นของบทเพลง ‘Bohemian Rhapsody’ นี่เอง


แม้หลายสำนักจะแปลบทเพลงนี้ และตีความกันออกมาในหลายแง่มุม แต่ ‘Bohemian Rhapsody’ ก็ดูเหมือนจะมีเพียง Freddie คนเดียวที่เข้าใจ แต่ Freddie ก็เคยกล่าวไว้ว่า “มันไม่ได้ออกมามั่วๆ หากแต่ออกมาจากการค้นคว้าและความพยายามที่จะให้มันเป็นเหมือนกับการล้อขนบของโอเปร่า” แต่หนังสือพิมพ์ The New York times ก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้อีกว่า “บทเพลงนี้มีความพิเศษและชัดเจนอย่างแจ่มชัดถึงลักษณะเฉพาะของเนื้อร้องที่เกี่ยวกับชะตากรรม” ซึ่งสุดท้าย Freddie ก็ออกมาปฏิเสธและอธิบายถึงความหมายว่ามันเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ และทางสมาชิกในวง Queen ก็ได้ร่วมกันปกปิดความลับของบทเพลงนี้

แม้เนื้อหาด้านในจะประกอบไปด้วย การฆ่าตัวตาย ความขบถ แปลกแยก และการขายวิญญาณ แต่นักวิชาการทางดนตรี ชีลา ไวต์ลีย์ เองนั้นก็ยังได้ศึกษาและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเขียนเพลงนี้ของ Freddie นั้น เกิดขึ้นในระหว่างที่ชีวิตของ Freddie Mercury มาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่เขาอยู่กับ Mary Austen มาถึง 7 ปี และเป็นช่วงขวบปีแรกที่เขาเริ่มมีเรื่องรักใคร่ หรือมีจิตสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นครั้งแรกอีกด้วย

จะอย่างไรนั้น ‘Bohemian Rhapsody’ ที่ถ้าแปลความหมายอย่างตรงไป ตรงมา ก็คือบทเพลง ลึกสุดใจแสนไพเราะของคนนอกหรือพวกแปลกแยก โดยเป็นการรวมคำ ระหว่าง ‘Bohemian’ ที่หมายถึง ผู้ดำรงชีวิตแตกต่างจากคนอื่น ไม่ทำตามกฎทางสังคม หรือคนนอก เช่น ชาวยิปซี ในอังกฤษที่ปฏิเสธกระแสวัตถุนิยมและออกเร่ร่อนในคาราวาน และ ‘Rhapsody’ ที่หมายถึง การแสดงความรู้สึกอย่างสุดซึ้ง นั่นเอง


แม้สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าความหมายของเนื้อหาในเพลงจะเป็นอย่างไร และสื่อถึงตัว Freddie Mercury ในแง่มุมไหนก็ตาม ก็คงจะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัว Freddie เองอยู่ดี ก็คงต้องปล่อยให้บทเพลงนี้มันล่องลอยไป ผ่านความรู้สึกเหมือนท่อนสุดท้ายในตอนจบของเพลงที่ว่า “Any way the wind blows…” นั่นเอง


Queen – Bohemian Rhapsody (Official Video Remastered)



Queen - Bohemian Rhapsody (Live at Rock Montreal, 1981)